A slight trick of the mind : มิสเตอร์โฮล์มส์
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่าผมเองไม่ค่อยได้อ่านหนังสือของเชอร์ล็อก โฮล์มส์มากนัก เพราะในช่วงที่ชอบอ่านหนังสือนั้นก็ประมาณ ม. ต้น สำนวนในการแปลหนังสือของเชอร์ล็อก โฮล์ม กับความเข้าใจ การตีความของเด็กม. ต้นแบบผมในตอนนั้น ดูจะไม่ไปด้วยกันซะเลย แต่หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือซึ่งผมเห็นหน้าปกและเรื่องย่อ ก็อยากจะอ่านแล้ว จึงต้องรีบหามาอ่านอย่างรวดเร็ว และอ่านจบทันทีเช่นกัน ปัจฉิมบทของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มนี้ (ขอลอกเรื่องย่อจากปกหลังเลยละกันนะ) เป็นเรื่องราวในปี 1947 เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ซึ่งอำลาอาชีพนักสืบมาหลายปี บัดนี้อายุ 93 ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านไร่อันห่างไกลที่ซัสเซ็กซ์กับแม่บ้านและบุตรชายวัยรุ่นของเธอ เขาเลี้ยงผึ้ง เขียนบันทึก และพยายามยึดเหนี่ยวความสามารถในการใช้สมองที่เสื่อมถอยลงทุกที แต่ในยามสนธยาแห่งชีวิตนี้เอง ขณะที่ผู้คนยังคงขอคำปรึกษาจากเขา โฮล์มส์ก็ได้ทบทวนคดีเก่าแก่คดีหนึ่งในอดีตตั้งแต่ครั้งที่เขายังเป็นนักสืบผู้ฉลาดปราดเปรื่องแห่งถนนเบเกอร์ และในการคิดใคร่ครวญถึงคดีนี้เอง อาจจะให้คำตอบแก่คำถามของเขา ที่โฮล์มส์ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนกำลังถาม นั่นคือคำถามเกี่ยวกับชีวิต ความรัก และข้อจำกัดแห่งความสามารถของจิตใจ
หนังสือมิได้มีการสืบสวนหรือไขปริศนาใดๆ มากนัก เป็นเรื่องราวแนวบรรยายมากกว่า เหตุการณ์ในหนังสือ ดำเนินเรื่องใน 3 ช่วงเวลา คือเหตุการณ์เมื่อโฮล์มเดินทางไปญี่ปุ่น มีฉากหลังในเมืองฮิโรชิม่าหลังการระเบิดครั้งใหญ่อันเป็นเหตุให้ยุติมหาสงครามครั้งที่ 2 เหตุการณ์ที่เขากลับมาบ้านที่ซัสเซ็กซ์และดูแลผึ้ง และเหตุการณ์ในบันทึกของโฮล์มส์ เกี่ยวกับคดีหนึ่งในอดีต แรกๆ ทั้งสามเหตุการณ์ดูจะดำเนินไปในแต่ละแบบ แต่กลับมาสอดประสานรับกันในตอนท้ายได้อย่างลงตัว คุณจะเห็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในวัยชราผู้หลงลืมการปรากฏของสิ่งต่างๆ ว่าเขาหรือใครเอามาวางไว้ตรงนี้ ผู้ที่มองโลกที่ต่างจากวัยหนุ่ม และการเล่าเรื่องราวที่ค่อยๆ กระตุ้นให้อยากพลิกอ่านหน้าต่อไป โดยส่วนตัวชอบตัวละคร โรเจอร์ ลูกชายของคุณนายมันโรแม่บ้านของโฮล์มส์ โรเจอร์ผู้ซึ่งแอบชื่นชมในตัวโฮล์มส์ และเป็นเด็กช่างสังเกต แต่สุภาพพอที่จะไม่ซักไซร์ไล่เรียง หากโฮล์มส์ไม่พอใจที่จะตอบคำถาม
หากคุณอยากอ่านโฮล์มส์แนวสืบสวน คลี่คลายปมคดีใดๆ คุณจะไม่เห็นจากหนังสือเล่มนี้ แต่หากคุณอยากรู้ว่านักสืบผู้ยิ่งใหญ่ในวัยเกษียรอายุ และพยายามเหนี่ยวรั้งความทรงจำ ยังคงมีเรื่องใดๆ ให้เล่าอยู่อีกหรือ จงลองหยิบเล่มนี้มาอ่านครับ
คะแนนรีวิว 9/10 คะแนน ครับ
No comments:
Post a Comment